พยายามหาดูย้อนหลังก็โดนลบหมดตามระเบียบ ไปเจอบทความชิ้นนี้ในเวปประชาไท อ่านแล้วรู้สึกว่า เจ๋ง วิเคราะห์ วิพากษ์ได้ละเอียดมาก และชัดเจนมากๆ ลองอ่านกันดูนะคะ ^^
ขอขอบคุณที่มา: http://www.prachatai.com/column-archives/node/260
โซ่เสน่หา : โซ่ตรวนผู้หญิง
ถึงผู้อ่านที่รัก | |||
คุณผู้อ่านที่รักขา ดิฉันเพิ่งจะอกหักค่ะ ที่จริงดิฉันก็ไม่อยากจะพูดเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะระบายกับใครดี มันช้ำใจค่ะ แหม จะไม่ให้ช้ำได้ยังไงล่ะคะ ผู้ชายทั้งคน และผู้หญิงสวย ๆ อย่างดิฉันต้องมาถูกผู้ชายทิ้งเนี่ย มันเป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก รู้ไปถึงไหนอายไปถึงนั่น แต่ดิฉันก็เศร้าได้ไม่นานหรอกค่ะ สวย ๆอย่างดิฉันคงอยู่เป็นโสดได้ไม่นาน แต่ตอนนี้ดิฉันขอตั้งสติก่อน แล้วขอบอกไว้ก่อนนะคะว่า ผู้ชายคนไหนต้องการจะจีบดิฉันเนี่ย ถ้าไม่หล่ออย่างพี่ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ก็ไม่ต้องเสนอหน้าเข้ามา เพราะดิฉันไม่รับพิจารณา ใช่ว่าดิฉันจะเป็นคนเรื่องมากนะคะ แต่ผู้หญิงสวย ๆ ที่สวยไม่แพ้อั้มพัชราภาอย่างดิฉัน จะให้ควงผู้ชายที่หน้าตาโลว์กว่านี้ก็คงไม่ไหวใช่ไหมคะคุณผู้อ่านที่รักขา | |||
พูดถึงพี่อั้มแล้ว ตอนนี้เธอก็กำลังมีละครที่กำลังโด่งดังเชียวแหละค่ะ ก็เรื่องนางสาวจริงใจกับนายแสนดีไงคะ คนเขาดูกันทั่วบ้านทั่วเมือง ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ดูทุกตอนไม่มีพลาด ก็เพราะพี่ติ๊กน่ะสิคะ ไม่งั้นดิฉันก็คงไม่ตามดูหรอกค่ะ คนอะไรก็ไม่รู้ หล่อจะตายให้ได้เลย แล้วละครเรื่องนี้ก็ชอบให้พี่ติ๊กใส่เสื้อกล้ามโชว์ท่อนแขนอันกำยำบ่อย ๆ ซะด้วยสิคะ แหม แล้วอย่างนี้ดิฉันจะพลาดได้ยัง แต่ว่าวันนี้ดิฉันไม่ได้มาชวนคุณผู้อ่านที่รักมาอ่านละครเรื่องนี้กันหรอกนะคะ พอดีว่าดิฉันมัวแต่มองหน้า (และอย่างอื่น) พี่ติ๊ก ไม่ได้สนใจเรื่องราวของละครเลย ก็เลยไม่รู้ว่าจะเขียนถึงประเด็นอะไรดี ดิฉันก็เลยชวนคุณผู้อ่านที่รักมาอ่านละครอีกเรื่องดีกว่า ที่น้องอั้มเธอเล่นเอาไว้เหมือนกัน (แต่พี่ติ๊กไม่ได้เล่น ดิฉันก็เลยดูรู้เรื่อง) ก็เรื่องโซ่เสน่หาไงคะ | |||
| |||
ราเมศว์ (ธนา สุทธิกมล ) เป็นลูกชายคนโตของคุณนายลิ้นจี่ (ดวงดาว จารุจินดา ) ซึ่งเธอเป็นอัมพาตนั่งอยู่บนรถเข็นและเป็นโรคหัวใจที่จะกำเริบและตายได้ทุกเวลาถ้ามีเรื่องมากระทบกระเทือนจิตใจ คุณนายลิ้นจี่เป็นแม่ที่เจ้ากี้เจ้าการกับลูกชายคนนี้มาก และหวงลูกชายไม่อยากให้แต่งงานกับผู้หญิงคนอื่น แต่เธอก็อยากได้ทายาท โดยที่ไม่อยากได้ลูกสะใภ้ คุณนายลิ้นจี่จึงใช้มารยาแม่ที่เป็นอัมพาตและเป็นโรคหัวใจ กล่อมให้ลูกชายเห็นแก่ความกตัญญู ผลิตทายาทตามแผนของแม่ คือเธอได้ประกาศรับสมัครผู้หญิงให้มาเป็นเมียชั่วคราว โดยมีหน้าที่มาทำลูกให้เท่านั้นตามสัญญา ซึ่งราเมศว์ก็ยอมทำตามผู้เป็นแม่แต่โดยดีด้วยสำนึกในบุญคุณของผู้เป็นแม่ | |||
ปราลี (พัชราภา ไชยเชื้อ ) เธอเป็นหญิงสาวสวย การศึกษาดี แต่เธอมีปัญหากับผู้เป็นแม่ แสงรวี (ภัสสร บุญยเกียรติ ) เนื่องจากผู้เป็นแม่กำลังจะแต่งงานใหม่กับผู้ชายที่ชื่อสารัตน์ ที่ปราลีเกลียดเข้าไส้ เพราะสารัตน์เป็นผู้ชายที่มาหลอกแม่เธอ คอยเกาะแม่เธอกินอย่างกับแมงดา เมื่อปราลีเห็นประกาศรับสมัครเมียชั่วคราว เธอจึงคิดจะประชดแม่ของเธอโดยการไปสมัครเป็นเมียชั่วคราว ปราลีจึงตกลงเซ็นสัญญาทันที พร้อมกับรับเงินไปครึ่งหนึ่งคือสองล้านห้า | |||
ปราลีและราเมศว์ ถูกส่งให้ไปอยู่ที่เกาะส่วนตัวของลิ้นจี่ เพื่อปฏิบัติการทำลูกตามสัญญา โดยที่เกาะจะมีหญิงร่างยักษ์ ที่เคยเป็นอดีตผู้คุมนักโทษ คือ พวน (นนทิยา จิวบางป่า) และ เม่น (ทองขาว ภัทรโชคชัย) คนเรือคอยควบคุมกำกับอยู่ ราเมศว์กับปราลีนั้นไม่ชอบหน้ากัน ด้วยต่างคนต่างคิดว่าไร้ศักดิ์ศรีที่ยอมมาทำแบบนี้ จึงมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดเวลา และไม่ยอมหลับนอนด้วยกันตามสัญญา จนเวลาเลยล่วงไปสักระยะหนึ่ง ทั้งสองคนก็เริ่มปรับตัวเข้าหากัน และต่างฝ่ายก็เริ่มเห็นในความดีงามของกันและกัน จนก่อเป็นความรัก และทั้งสองก็ได้มอบให้กันและกันด้วยความรัก จนกระทั่งปราลีตั้งท้อง และราเมศว์ก็ถูกคุณนายลิ้นจี่เรียกตัวกลับ คุณนายลิ้นจี่ได้วางแผนให้พวนฆ่าปราลีทันทีที่คลอด แต่ด้วยความสงสารของพวนที่เคยมีลูกมาก่อน จึงช่วยเหลือให้ปราลีหนี พวนจึงเกิดการต่อสู้กับเม่นและตายทั้งสองคน ปราลีกับลูกจึงหนีไปได้ | |||
หลังจากนั้นหนึ่งปีต่อมา ราเมศว์เข้าใจว่าปราลีกับลูกตายแล้ว และถูกแม่จับแต่งงานกับ กับสุนีย์รัตน์ (ณัฐจิรา ขวัญดี ) ผู้หญิงปัญญาอ่อน ลูกสาวของคุณหญิงเจริญศรี (พิราวรรณ ประสพศาสตร์) แต่ชะตากรรมก็ทำให้ราเมศว์พบกับปราลีอีกครั้ง และได้รู้ว่าเด็กที่อยู่กับปราลีเป็นลูกของตน จึงตามงอนง้อ แต่ปราลีก็ใจแข็ง เพราะกลัวจะเกิดเหตุการณ์อย่างที่ผ่านมา เมื่อปราเมศว์รู้ความจริงเมื่อปีก่อนว่าเกิดอะไรกับปราลีจึงได้ไปต่อว่ากับแม่ จนคุณนายลิ้นจี่โกรธและบอกความจริงไปว่าราเมศว์นั้นไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของตน รังสรรค์น้องชายของราเมศว์ (ศิววงศ์ ปิยเกศิน) และเตือนตาเพื่อนของปราลี (ปานวาด เหมมณี) จึงวางแผนให้ปราลีและราเมศว์คืนดีกัน โดยหลอกให้ไปอยู่ที่เกาะนั้นอีกครั้ง จนทั้งสองเข้าใจกันเหมือนเดิม | |||
ราเมศว์หย่ากับสุนีย์รัตน์ และคุณนายลิ้นจี่ก็แกล้งสำนึกผิด ให้ปราลีเข้ามาอยู่ในบ้าน ความสัมพันธ์ดูเหมือนจะราบรื่นและจบลงด้วยดี แต่ลิ้นจี่ก็วางแผนฆ่าปราลี เหมือนที่ฆ่าแสงรวีแล้ว เพราะต้องการอยู่กับลูกชายและหลานสามคนเท่านั้น ปราลีรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล จึงอยากย้ายกลับไปอยู่บ้าน แต่คุณนายลิ้นจี่ก็ลงมือฆ่าทันที่โดยไม่ปล่อยให้ปราลีมีโอกาสกลับไปอยู่บ้าน โชคดีที่พี่สาวของราเมศว์เข้ามาช่วยไว้จนถูกยิงเสียชีวิตและดึงคุณนายลิ้นจี่ตกบันไดลงมาเสียชีวิตด้วย หลังเหตุการณ์ร้าย ๆ ผ่านไป ราเมศว์ขายบ้าน และไปเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่กับ ปราลีและลูกอย่างมีความสุข | |||
เป็นอย่างไรบ้างคะ คุณผู้อ่านที่รักขา คิดเหมือนดิฉันไหมคะว่าละครเรื่องนี้เน่าสนิทจริง ๆ แต่อ๊ะ อ๊ะ ถึงดิฉันจะกล่าวหาว่าละครเรื่องนี้เป็นละครน้ำเน่า แต่ดิฉันก็ไม่ได้บอกนะคะว่ามันไม่สนุก หรือไม่ดีเลย นั่นคนละประเด็นค่ะ เดี๋ยวคุณผู้อ่านที่รักทั้งหลายจะหาว่าดิฉันเป็นพวกดูถูกละครไทย (ซึ่งก็อาจจะเป็นความจริงบ้าง) แต่ดิฉันนี่แหละค่ะแฟนพันธุ์แท้เพราะดูทุกเรื่องทุกช่องก็ว่าได้ เอาเป็นว่าถึงแม้ละครเรื่องนี้จะส่งกลิ่นตุ ๆ ออกมาเวลาแพร่ภาพบ้าง แต่เนื้อเรื่องของละครเรื่องนี่น่าสนใจไม่น้อยเลยนะคะ ถ้าไม่น่าสนใจจริงดิฉันก็คงไม่หยิบมาเขียนถึงหรอกค่ะ เอาเป็นว่ามาดูกันต่อว่าละครเรื่องนี้น่าสนใจอะไรบ้าง นอกจากจะมีนางเองสวยอย่างเดียว | |||
อย่างแรกที่ดิฉันคิดว่าไม่ควรพลาดที่จะเขียนถึงก็คือการที่นางเอกเธอขายตัว อุ๊ยไม่ใช่ค่ะ สมัครเป็นเมียเช่า (เอ๊ะ หรือว่าขายตัวถูกแล้ว) ละครเรื่องนี้ให้เหตุผลของการที่นางเอกมาทำหน้าที่เมียเช่า คือทำประชดแม่ ซึ่งตั้งแต่ดิฉันดูละครมาส่วนมากพล็อตเรื่องแบบนี้ก็จะเป็นประมาณว่า ยอมเป็นเมียเพื่อใช้หนี้ที่พ่อแม่ก่อเอาไว้ เพื่อทดแทนบุณคุณ หรือตกลงเป็นเมียปลอม ๆ แล้วสุดท้ายก็รักกัน เรื่องนี้มาแปลกหน่อยก็ตรงที่ว่าเธอตัดสินใจมาเป็นเมียเช่าด้วยต้องการประชดแม่ของเธอที่หลงใหลสัมพันธ์กับชายหนุ่มที่เป็นเสมือนแมงดาเกาะแม่เธอ แต่ดิฉันว่าก็ยังเน่าตามสูตรอยู่ดี เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ได้เสียฟรี ๆ เพราะเสียก็เสียให้พระเอก ซึ่งตอนจบเป็นอย่างไรก็คงรู้กัน | |||
การมาเป็นเมียเช่า หรือการมาเสียตัวของนางเอกจึงมักจะมีแรงจูงใจบางอย่าง หรือพื้นหลังของเหตุผลบางอย่างมาประกอบด้วยเสมอ เพื่อที่จะบอกกับคนดูอย่างเราว่านางเอกเธอเป็นคนดีนะ เธอไม่อยากทำอย่างนี้หรอก แต่ด้วยสถานการณ์มันบีบเธอให้ต้องทำ พวกเราคนดูทั้งหลายจึงไม่เคยมองนางเอกในภาพของผู้หญิงไม่ดีเลยสักครั้งถึงแม้การกระทำของเธอมันช่างไร้เหตุผล งี่เง่า และบางทีถ้าบทบาทเช่นนี้สลับกับนางอิจฉา ซึ่งเรามักจะเห็นอยู่บ่อย ๆ ว่าคอยจ้องแต่จะ " เอา" พระเอกนั้น ก็กลับกลายเป็นผู้หญิงหื่นกระหายผู้ชายอะไรเช่นนั้น เพราะนี่คือข้อตกลงร่วมที่ละครมีแก่ผู้ชมอย่างเรา เพราะอย่างไรนางเอกก็คือนางเอกค่ะ | |||
แต่จะหาที่ไหนได้คะเนี่ยค่าจ้างตั้งห้าล้าน ถ้ามีเมียจ้างแบบนี้ที่ไหนบอกดิฉันด้วยนะคะ ดิฉันยินดีรับเป็นโดยเต็มใจไม่มีแรงขับที่เป็นเงื่อนไขอย่างนางเอกคนใด ๆ ในนิยายทั้งสิ้น เงินตั้งห้าล้าน พระเอกก็หล่อ ไม่ต้องจ้างดิฉันก็ยอมค่ะงานนี้ แต่ที่ดิฉันติดใจอีกอย่างก็คือ ด้วยความที่ดิฉันเรียนกฎหมาย ก็เลยสงสัยด้วยความร้อนวิชาว่าสัญญาจ้างของเธอกับแม่พระเอกนั้นเป็นสัญญาประเภทไหนกันแน่ ระหว่างสัญญาจ้างทำของกับสัญญาจ้างแรงงาน | |||
นี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นะคะเพราะครั้งหนึ่งดิฉันก็เคยสงสัยเหมือนกันว่าผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศ เธอถือเป็นลูกจ้างการบริการ จะถือเป็นการจ้างทำของคือ มุ่งหมายต่อผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของงาน หรือจ้างแรงงาน คือมุ่งหมายตามลักษณะงานที่ทำ แต่อาจไม่ " เสร็จ" ก็ได้ อย่างกรณีของนางเอกเรื่องนี้คงเป็นจ้างทำของมั๊งคะ เพราะว่าด้วยเจตนารมณ์ของสัญญาโดยผู้จ้างคือแม่ของพระเอกต้องการลูกคือผลสำเร็จของงาน แต่ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าถ้าคิดถึงผู้ทำงานอย่างพระเอกนี่จะเป็นจ้างแรงงานหรือเปล่า? เอ๊ะ ดิฉันชักจะนอกเรื่องไปไกลแล้วนะคะเนี่ย | |||
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก ที่ดิฉันว่าละครเรื่องนี้ได้พยายามสื่อออกมา โดยผ่านคำพูดของตัวละครอย่างรังสรรค์ที่ด่าทอคุณนายลิ้นจี่ว่า การกระทำของคุณลิ้นจี่ที่จับราเมศว์กับปราลีไปไว้บนเกาะด้วยกัน แล้วตั้งเงื่อนไขคือให้หลับนอนด้วยกันเพื่อผลิตทายาท นั้นไม่ต่างอะไรกับการจับสัตว์มาผสมพันธุ์ โอ้โห ข้อหาร้ายแรงเลยนะคะเนี่ย ขณะที่ดิฉันกำลังนั่งดูละครตอนนี้ ดิฉันก็พยักหน้าหงึก ๆ เห็นด้วยอย่างไร้ข้อกังขา แต่พอนั่งคิดทบทวนไปสักพัก ก็ต้องร้องออกมาด้วยความโมโหว่านี่มันกลลวงหลอกผู้หญิงนี่หว่า และก็หลอกด่าผู้หญิงบางประเภทด้วย | |||
การที่ผู้ประพันธ์บอกออกมาอย่างโต้ง ๆ โดยผ่านปากของรังสรรค์นั้น ดูตามละครอาจจะเป็นการด่าคุณนายลิ้นจี่แต่แท้จริงแล้ว นี่แหละคือการออกมาด่าผู้หญิงดอกทองทั้งหลาย การกระทำของคุณนายลิ้นจี่ที่จับพระเอกกับนางเอกให้มาอยู่ด้วยกัน แล้วตั้งเงื่อนไขให้หลับนอนด้วยกัน เพื่อให้มีทายาทนั้น ก็เปรียบเสมือนการนำสัตว์ที่เป็นพ่อพันธุ์กับแม่พันธ์มาทำการผสมพันธุ์กันเพื่อให้ได้ลูกออกมา เป็นวิธีเดียวกันกับมนุษย์ที่ทำกับกับสัตว์ในฟาร์มทั้งหลาย | |||
แต่ถ้าเราลองสังเกตดูในละครนะคะว่าผู้ประพันธ์ให้นางเอกยอมหลับนอนกับพระเอกเมื่อไหร่ ทั้ง ๆ ที่พระเอกกับนางเอกไปอยู่บนเกาะได้นานพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่ปฏิบัติการตามสัญญาที่ตนเป็นลูกจ้างสักกะที แต่เมื่อวันที่นางเอกยอมมอบกายให้พระเอกนั้นก็เป็นเพราะ " ความรัก" ที่ทั้งสองมีให้ต่อกัน นี่แหละค่ะ keyword ของเรื่องนี้ " ความรัก" นี่เองที่แยกการปฏิบัติการทางกามกิจของมนุษย์เราออกจากสัตว์ นางเอกยอมนอนกับพระเอกก็ต่อเมื่อนางเอกรักพระเอกเท่านั้น เพราะฉะนั้นหญิงคนใดที่ยอมนอนกับผู้ชาย โดยปราศจากซึ่งความรัก ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่สมสู่กันตามวิถีของสัตว์ มนุษย์จึงประเสริฐกว่าสัตว์ก็ตรงที่มนุษย์มีความรักเวลา " เอา " กันนั้นเอง โอ้โหเล่นแรงนะคะเนี่ยละครเรื่องนี้ | |||
" ความรัก" กับ " การเสียตัว" จึงกลายเป็นวาทกรรมที่ครอบความคิดของผู้หญิงทุกผู้ทุกคน จนมีคำพูดว่า " ผู้หญิงเอาความรักแลกเซ็กส์" การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะยอมพลีกายให้ผู้ชายจึงต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความรักเสมอ ดิฉันไม่ได้สนับสนุนการที่ผู้หญิงจะเที่ยวไปนอนกับผู้ชายไปเรื่อย ๆ นะคะ โปรดอย่าเข้าใจผิด เพียงแต่ดิฉันกำลังจะบอกว่าผู้หญิงถูกกดให้ตกอยู่ใต้วาทกรรมว่าด้วยความรักจนแยกกันไม่ออก มันทำให้ผู้หญิงกลายเป็นคนที่ไร้ซึ่งความรู้สึกปรารถนาทางเพศรสไปทันใด เพราะความรู้สึกต้องการทางเพศของผู้หญิงถูกนำไปผูกติดกับความรักเสมอทุกครั้ง | |||
ถ้าไม่มีความรัก ผู้หญิงก็ไม่สามารถที่จะนอนกับผู้ชายได้ ถ้าไม่มีความรักผู้หญิงก็ไม่สามารถจะปลดปล่อยอารมณ์ความต้องการทางเพศของตนได้ เพราะถ้าผู้หญิงฝืนกฎเหล็กอันนี้ก็จะกลายเป็นผู้หญิงดอกทองไป และก็ถูกกล่าวหาว่าไม่ต่างอะไรกับสัตว์ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงถึงไม่มีอารมณ์ความรู้สึกทางเพศเมื่อดูรูปโป๊เหมือนกับผู้ชาย เพราะผู้หญิง (ดี) ถูกสอนให้นอนกับผู้ชายเมื่อรักเขา ในขณะที่ผู้ชายนอนกับผู้หญิงคนหนึ่งด้วยอารมณ์ความรู้สึกร้อยแปดพันเก้า | |||
ไม่เพียงแค่นั้น ละครเรื่องนี้ยังตอกย้ำการให้คุณค่าแก่ความรักและการเสียความบริสุทธิ์ของผู้หญิงอย่างที่ไม่น่าให้อภัยอย่างเป็นที่สุด โดยผ่านตัวละครอย่างเตือนตา เพื่อนสาวของนางเอก เธอแอบรักรังสรรค์อยู่ในใจ แต่เธอก็รู้ว่ารังสรรค์แอบรักนางเอกเช่นกัน และแล้ววันหนึ่งรังสรรค์เมาและคิดว่าเตือนตาเป็นปราลี จึงขืนใจปลุกปล้ำเตือนตา เตือนตาเธอเสียใจมาก เมื่อกลับมาที่บ้านแม่ของเธอก็ปลอบด้วยคำพูดที่เสมือนการตอกตะปูปิดฝาโลงผู้หญิงไปเลยว่า เธอสงสารลูกที่เสียสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตไป | |||
โอย คุณผู้อ่านขา ถ้าเรายังขืนคิดว่าพรหมจารีสำคัญยิ่งชีวิตและสำคัญที่สุดในชีวิตลูกผู้หญิง ชาตินี้ผู้หญิงก็ไม่ต้องทำอะไรแล้วหละค่ะ ก็เพราะยังลวงล่อหลอกลวงให้ผู้หญิงติดอยู่กับการเป็นผู้หญิงดีโง่ๆ แบบนี้น่ะสิคะ ผู้หญิงถึงไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองภายใต้วาทกรรมเรื่องเพศที่กดความเป็นผู้หญิงให้งี่เง่าอยู่เช่นนี้ | |||
ในกรณีของเตือนตา เธอตกลงแต่งงานกับรังสรรค์เมื่อรังสรรค์สำนึกผิด ทั้ง ๆ ที่เธอถูกขืนใจ โดยผู้ชายที่สำคัญผิดในตัวคนว่าเธอคือปราลี และผู้ชายคนนั้นก็ไม่ได้รักเธอ (ในตอนแรก) แต่ด้วยความรักและพรหมจรรย์ที่เธอสูญเสียไป เธอจึงยอมแต่งงานกับเขา ด้วยวาทกรรมทั้งสองอย่างนี้ที่ผูกติดผู้หญิงให้ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะจัดการอย่างไรกับชีวิต ถึงแม้ว่าชีวิตครอบครัวของเตือนตาจะจบลงอย่างสมบูรณ์ รังสรรค์รักเธอและเป็นสามีที่ดี แต่จะมีผู้หญิงสักกี่คนที่ภักดีต่อความรักและพรหมจรรย์จะโชคดีอย่างเธอ และทำไมผู้หญิงถึงไม่มีเจตจำนงที่เสรีพอที่จะบอกว่าก็แค่เส้นบางๆ อยากได้ก็เอาไป เสียไปก็แค่นั้น มันไม่รักฉัน ก็ช่างมัน ฉันก็ไม่แคร์ คงจะยากเหลือเกินที่ดิฉันจะได้เห็น เพราะโซ่แห่งความรักและพรหมจรรย์มันแน่นหนาเหลือเกิน | |||
นอกจากนี้ความเป็นผู้หญิงในเรื่องนี้บังถูกผูกมัดไว้แน่นหนาด้วยความเป็น " แม่" ปราลีเธอพยายามปฏิเสธการมางอนง้อขอคืนดีจากราเมศว์ ถึงกับพยามยามจะหนีไปอยู่อเมริกา เธอบอกกับตัวเองว่าเธอสามารถเลี้ยงลูกเองได้ แต่แล้วผู้ประพันธ์ก็ได้ยืมปากของรังสรรค์อีกครั้งเพื่อที่จะบอกผู้หญิงทั้งหลายที่คิดว่าตัวเองเก่ง เป็นผู้หญิงแกร่งจะเลี้ยงลูกเองโดยไม่ง้อผู้เป็นพ่อว่า ลูกเป็นเสมือนโซ่ที่ถักทอความรักของพ่อกับแม่เอาไว้ อย่าทำให้โซ่นี้กลับกลายเป็นการถักทอความเกลียดชังเอาไว้ และอย่าเอาความเจ็บแค้นมาทำร้ายลูก | |||
ความที่ผู้หญิงตั้งท้องเอง ความเป็นแม่จึงตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ และลูกก็ถือเป็นสมบัติของอันล้ำค่าของพ่อและแม่ ละครเรื่องนี้ และละครอีกหลายเรื่อง จึงได้หยิบยืมความเป็นแม่ และลูกมาใช้เตือนผู้หญิงตลอดเวลาให้ตระหนักถึงความเป็นแม่ที่ดี เห็นแก่ลูกเหนือสิ่งอื่นใด ปราลีก็เช่นเดียวกัน เธอก็ถูกเตือนถึงความเป็นแม่ที่ดี ผู้หญิงกับความเป็นแม่ สุดท้ายเธอก็หันกลับมาคืนดีกับผู้เป็นพ่อของลูกแต่โดยดี | |||
ความรักของผู้หญิงเกิดขึ้นได้อย่างไร ละครเรื่องนี้ก็วางกับดักผู้หญิงอีกครั้งให้ติดกับฝันหวาน ปราลีถึงแม้เธอจะเกลียดกับราเมศว์ในตอนแรก แต่ความรักก็เกิดขึ้นได้ เพราะเธออยู่ใกล้ชิดกับผู้ชาย (หล่อ) ท่ามกลางทะเลที่สวยงาม ตัดขาดจากผู้คน ความรักของผู้หญิงจึงถูกประกอบสร้างด้วยคำว่า " โรแมนติก" ผู้หญิงจึงติดกับภาพของความโรแมนติกเสมอเมื่อมีความรัก ความรักของผู้หญิงจึงมาพร้อมกับความโรแมนติก ความโรแมนติกจึงสามารถสร้างให้ผู้หญิงเกิดความรักขึ้นได้ เมื่อปราลีกับราเมศว์จะคืนดีกัน เขาและเธอก็กลับมาสร้างความรักครั้งใหม่อีกครั้งที่เกาะเดิม ท่ามกลางทะเลที่สวยงาม บรรยากาศที่เป็นใจ และความรักที่หายไปเพราะความเกลียดชังก็กลับมาใหม่อีกครั้ง ด้วยความโรแมนติกที่สร้างขึ้น (โดยผู้ชาย ) ผู้หญิงจึงถูกหลอกอยู่ในโลกฝันหวาน กับความโรแมนติกเมื่อเธอจะมีความรัก และผู้ชายก็มักจะใช้ไม้นี้เมื่อจะให้ผู้หญิงคนหนึ่งรัก | |||
ความรัก พรหมจรรย์ ความเป็นแม่ ความโรแมนติก โซ่ที่หนักอึ้งที่ตรวนผู้หญิงไว้นานแสนนาน และยังคงตามตอกย้ำและหลอกลวงกันไปไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน อย่างเช่นในละครเรื่องนี้ที่ยังคงกดทับผู้หญิงไว้ด้วยวาทกรรมความเป็นผู้หญิงที่ถูกสร้างด้วยสังคมและอ้างอิงจากร่างกาย โซ่ที่ล๊อกติดอย่างแน่นหนาไม่สามารถที่จะปลดมันออกอย่างง่ายดาย โซ่ที่ตรวนผู้หญิงไว้กับอุดมการณ์ทางเพศที่กดทับผู้หญิง อยู่ทุกผู้ทุกคน จนบางครั้งผู้หญิงเองก็คิดไปว่าโซ่ตรวนอันนี้มันอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นผู้หญิงจนไม่คิดที่จะปลดมันออก จะลากมันไปไหนต่อไหนเหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งของผู้หญิง จนลืมไปว่าโซ่ที่ตรวนอยู่นั้นมันหนักบรรลัยเลย | |||
ดิฉันเองค่ะ | |||
รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์ | |||
she_abitch@yahoo.com |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น