The Prestige

ล่วงเข้าปีใหม่อีกปีนึงแล้วทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม เฮ้อ....
วันนี้ลองเขียนแบบตกแต่งบ้านไปพร้อมกับดูหนังเรื่อง 


The Prestige เป็นเพื่อนแต่หนังก็ชวนงงเหลือเกิน




จนต้องมาหาบทวิเคราะห์วิจารณ์ในเน็ต 









บทวิเคราะห์อันนี้ดีจริงๆ ต้องขอขอบคุณ  บล็อกนี้ 
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=navagan&month=11-2008&group=2&date=07&gblog=26
วิเคราะห์มาอย่างแจ่ม... แยกทีละจุดให้ด้วย แต่ไม่กล้าเอามาโพสต่อ (เขาสงวนสิทธิ์ไว้ ต้องตามไปอ่านเอง^^)

เอาบทความอันนี้มาแปะแทน จากกรุงเทพธุรกิจ

“ดูใกล้ๆ หรือยัง?”

“ตอนนี้คุณพยายามมองหาความลับ แต่ไม่เจอ เพราะคุณไม่ได้หามันอย่างจริงจัง คุณไม่ได้อยากรู้ความลับด้วยซ้ำ คุณแค่อยากจะโดนหลอก”

นี่กระมังที่ทำให้มายากลเป็นเรื่องสนุก เพราะมันเป็นมายาบันเทิง ที่น้อยคนจะเกิดอาการสงสัยใคร่รู้ว่า อะไรซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังความลับนั้น?

ยกเว้น “แองเจียร์” (รับบทโดย ฮิว แจ๊คแมน) กับ “บอร์เด้น” (รับบทโดย คริสเตียน เบล)

ชายสองคนที่อุทิศตนให้กับวิชาชีพมายากล จนนำไปสู่การแข่งขัน การจองเวร การเสียสละ และจบลงที่ความตาย

The Prestige หรือ “ศักดิ์ศรี” เป็นองค์ที่ 3 ของสุดยอดมายากล ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดในการแสดง เป็นบทพิสูจน์ฝีมือนักเล่นกลว่า ถัดจากองค์แรกคือ The Pledge หรือ “คำปฏิญาณ” ด้วยการโชว์ของธรรมดา สู่ความไม่ธรรมดาในองค์ที่ 2 The Turn หรือ “การหักเห” แล้ว

เขาหรือเธอสามารถนำมันกลับมาเพื่อเรียกเสียงฮือฮา สีหน้าประหลาดใจ และเสียงปรบมือกึกก้องโรงละครได้หรือไม่? “การทำให้ของหายไปยังไม่เพียงพอ แต่ต้องเอากลับมาให้ได้ด้วย”

นี่คือขั้นตอนสุดท้าย ที่ทำให้ “กล” มีเสน่ห์ดึงดูดใจ มากกว่า “ความลับ” ที่ไม่เคยสร้างความประหลาดใจให้ใคร

ทว่าบนต้นทุนของความลับ กลับมีมูลค่ามากมายมหาศาลเกินกว่าจะแบกรับไว้ได้

“เคยคิดถึงต้นทุนค่าใช้จ่าย อย่างเครื่องจักรบ้างไหม?” (Mr. Angier, have you considered the cost of such a machine?) นิโคล่า เทสล่า (รับบทโดย เดวิด โบวี่) ตัวละครเพียงตัวเดียวที่มีชีวิตอยู่จริง ในโลกของนักวิทยาศาสตร์ ตั้งคำถามกับแองเจียร์

“ราคาไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผม” แองเจียร์ ตอบ

“บางทีอาจจะไม่ แต่เคยคิดถึงผลที่จะตามมาบ้างไหม?” (Perhaps not, but have you considered the *cost*?) เทสล่าย้ำคำ

“ไม่แน่ใจผมตามคุณทันไหม?” แองเจียร์ เริ่มประหลาดใจ

“กลับบ้านแล้วลืมมันซะ ผมยังจำได้ถึงความหลงใหลใฝ่ฝัน แต่มันจะนำสิ่งไม่ดีตามมา” อดีตนักประดิษฐ์ชื่อก้องเตือน

“ถ้าคุณเข้าใจการตามหาความฝัน คุณคงรู้ดีว่าไม่อาจเปลี่ยนใจผมได้แน่” แองเจียร์ยังคงไม่ลดละ

The Prestige เป็นหนังกลยุทธ์ว่าด้วยกลบนมายา ที่ผนึกแน่นไปกับการใช้ชีวิต “เป็น อยู่ คือ” ของนักมายากล

ทั้งหมดนี้คือต้นทุนที่แองเจียร์กับบอร์เด้นต้องลงทุนควักในรูปของ “การเสียสละ” ที่ต่างฝ่ายต่างก็มีมูลค่าไม่เท่ากัน ขึ้นกับความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ความหลงใหลใฝ่ฝัน

ภายใต้การนำเสนอของ “คริสโตเฟอร์ โนแลน” ที่เปลี่ยนบทบาทในเชิงสัญลักษณ์

จาก “ผู้กำกับ” มาเป็น “นักมายากล”

แปลง “คอนเทนท์ในหนัง” เป็น “สุดยอดมายากล” ให้อรรถรสครบถ้วนทั้งสามองค์

โดยมี “คนดูในโรงหนัง” ไม่ต่างอะไรกับ “โรงละคร” ซึ่งล้วนต่างพากันทำสีหน้าประหลาดใจ และรู้สึกทึ่งเมื่อเดินออกจากโรง

เบื้องหลังการโลดแล่นในโลกมายากล The Prestige ผ่านตัวละครหลักอย่างแองเจียร์และบอร์เด้น ในมุมของการบริหารจัดการ เราเห็นได้ชัดเจนถึงสาระสำคัญของการพาธุรกิจสู่ความสำเร็จ

อย่างแรกเป็นเรื่องของ การบริหารคนเก่ง (talent management) ทั้งนี้ครึ่งหนึ่งของการเป็นคนเก่งมีแววดี คือการมีพี่เลี้ยง (coaching) ในเรื่องคือวิศวกรที่ดูแลเรื่องกล อุปกรณ์ประกอบฉาก อยู่ชิดใกล้ ทำหน้าที่เป็นทั้งทหารคนสนิทและที่ปรึกษาการจัดการ

ประเด็นของ ภาวะผู้นำกับการนำองค์กร ที่นอกเหนือจากการหาเลี้ยงชีพ การสร้างผลกำไรให้ธุรกิจแล้ว เรื่องของการบริหารโดยสุจริตธรรม เป็นตัวชี้วัดสุดท้ายถึงความเป็นคนเก่งและดี

กลยุทธ์การตลาด โฆษณา และภาพลักษณ์ ถ้าเปรียบเทียบมายากลเป็นสินค้าและบริการ แองเจียร์จะมีภาพลักษณ์ของนักแสดงที่ดี ที่เข้าใจความต้องการของตลาด มากกว่าบอร์เด้นที่สามารถผลิตสินค้าดีมีคุณภาพ รู้จักคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ มีภาพของนักมายากลที่เก่งแต่เป็นนักแสดงที่ยังอ่อนหัด

เป็นผลทำให้การแสดงชุดมนุษย์ล่องหนของเขา ถูกแองเจียร์ copy & develop ไปสู่มนุษย์ล่องหนโฉมใหม่ ที่ดูสมบูรณ์แบบและน่าอัศจรรย์มากกว่า หลังแองเจียร์ค้นพบความมหัศจรรย์ของเครื่องจักรเทสล่า



(โปรดติดตามอ่านตอนจบฉบับหน้า)


ประเด็นของการโจรกรรมข้อมูลทางธุรกิจ ด้วยวิธีการส่งหน่วยสอดแนม หรือการใช้วิธีสกปรกในรูปแบบต่างๆ มากกว่าหาทางคิดวิเคราะห์ เก็บข้อมูลคู่แข่ง แล้วประมวลภาพเพื่ออ่านเกมให้ออก

สุดท้ายเป็นเรื่องของอัตตา ตัวกูของกู กับความต้องการไม่มีสิ้นสุดของมนุษย์ ดังที่ “อับบราฮัม มาสโล” เจ้าของทฤษฎีวัฏจักรแห่งความต้องการ ยืนยันว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด และจะมีความอยากได้ใคร่มี จนกว่าความต้องการนั้นจะหมดไป

สำหรับเรื่องนี้ อยากจะเสริมว่า จนกว่าลมหายใจสุดท้ายจะสิ้นสุดลง เมื่อนั้นกิเลสจึงมีอันปิดฉาก

บอร์เดนใช้แฝดของตัวเอง เป็นต้นทุนหลักที่ทำให้มายากลชุดมนุษย์ล่องหนประสบความสำเร็จ และทางออกทางเดียวที่จะไม่ให้ใครจับกลนี้ได้ ก็คือ การใช้ชีวิตร่วมกัน เหมือนกับเป็นหนึ่งเดียวทั้งในร่างของบอร์เดน นักมายากลแววดี กับฟัลลอน วิศวกรมายากลคู่กาย

“ความลับคือชีวิตของฉัน” บอร์เดนบอกกับศรีภรรยา ที่มักระแวงความเป็นตัวตนของเขา

ความใหม่สดของมนุษย์ล่องหน นอกจากดึงดูดผู้คนให้อยากยล และสร้างความมั่งคั่งให้บอร์เดนแล้ว ยังดึงเอาความอิจฉา ความถือดีกว่า ความอยากเอาชนะของแองเจียร์ ออกมาด้วย

กิเลสของแองเจียร์ผ่านเส้นกั้นสุจริตธรรม หรือ integrity ที่องค์กรควรยึดถือ เขาขโมยมนุษย์ล่องหนไปสร้างความโดดเด่นให้ตัวเอง ด้วยการใช้ตัวแสดงแทนหน้าเหมือน

แต่จนแล้วจนรอดแองเจียร์ก็ไม่เคยพอใจ ทั้งๆ ที่เป็นวิธีการเดียวกับที่บอร์เดนใช้

“ฉันรู้อยู่แล้วว่าเขาทำอย่างไร? เขาใช้ 2 คนแสดง นายแค่อยากได้อะไรมากกว่านั้น” คัทเตอร์ (รับบทโดย ไมเคิล เคน) บอกกับแองเจียร์อย่างระอา

ถึงแม้แองเจียร์กับบอร์เดนล้วนต่างก็มีความหลงใหลที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพเหมือนกัน

แต่เป้าหมายของบอร์เดนโฟกัสไปที่การทำมาหาเลี้ยงครอบครัว และมีชีวิตที่เป็นสุข โดยใช้ความเป็นแฝดมาเน้นการอยู่ร่วม สร้างสมดุลทั้งชีวิตงานและครอบครัว

ขณะที่เป้าหมายของแองเจียร์ อยากให้มีแสงสปอตไลท์มาส่องที่ตัวอยู่ตลอดเวลา “ไม่มีใครสนคนที่อยู่ในกล่อง หรือคนที่หายไป”

การค้นพบความมหัศจรรย์ของเครื่องจักรเทสล่า ทำให้เขาสามารถ copy, paste และ delete มนุษย์โคลนนิงที่เขาเป็นต้นแบบ กลายเป็น “กลอำมหิต” ที่ทำให้มนุษย์ล่องหนโฉมใหม่เปรี้ยงปร้าง

แม้แต่บอร์เดนก็ยังต้องใช้สปิริตนักกีฬา “เลิกพอแล้ว กลนี้เป็นของเขา ฉันไม่อยากได้ความลับของเขาอีกแล้ว ไม่ต้องไปแล้ว เราทั้งคู่เลย ปล่อยเขาไปเถอะ” บอร์เดนบอกกับฟัลลอนถึงความพ่าย

แต่สุดท้ายความอยากรู้อยากเห็น ก็เข็นบอร์เดนให้ไปไขปริศนาของกลแองเจียร์ จนนำไปสู่ข้อกล่าวหาฆาตกรรมแองเจียร์ ถูกศาลตัดสินแขวนคอ

ผู้กำกับหนังเรื่องนี้บอกกับคนดูอย่างตรงไปตรงมาว่า สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และหลายครั้งความลับก็คือความเรียบง่ายที่อยู่ตรงหน้า แต่คนมักจะมองไม่เห็น เพราะอยากถูกหลอก

มีหลายธุรกิจหลากอุตสาหกรรมที่เปลือกนอกดูดีหมดจด แต่ข้างในกลับข้าง

ถึงมายากลจะ “เสียสละ” คุณธรรม จริยธรรม สุจริตธรรม ยอมฆ่านกแก้วนกพิราบ ยอมสูญเสียความเป็นตัวเอง สูญเสียคนใกล้ชิด เพื่อให้ครบสามองค์ประกอบสู่ความสำเร็จ

ก็ใช่ว่าองค์กรจะต้อง “บูชายัญ” ลูกค้า พนักงาน คู่แข่ง ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ธรรมชาติ และสัตว์ร่วมโลก เพราะการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ มีทางเลือกมากกว่านั้น

ส่วนคนดู (หรือลูกค้า) ก็อย่าเต็มใจให้หลอก อย่าทำให้ถูกเชื่อ โดยที่ไม่พยายามหาความลับ ดังกรณีกระแสจตุคามรามเทพฟีเวอร์ ที่นำไปสู่การปั่นราคา การยกเค้า การใช้อำนาจของรัฐแทรกแซง การแห่กันไปเฝ้าวัดโดยไม่ทำมาหากิน สุดท้ายยื้อแย่งจนเหยียบกันตาย

เพราะความลับของจตุคามรามเทพ ไม่มีอะไรมากไปกว่า “ความดี”

“ดูใกล้ๆ หรือยัง?”

“ตอนนี้คุณพยายามมองหาความลับ แต่ไม่เจอ เพราะคุณไม่ได้หามันอย่างจริงจัง คุณไม่ได้อยากรู้ความลับด้วยซ้ำ คุณแค่อยากจะโดนหลอก”





The Prestige 









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น